วันที่ 1 มิถุนายน 2568 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมสุพร แกรนด์ โฮเต็ล อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพื่อเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่ (จังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี และจังหวัดชัยนาท) พร้อมด้วยนางศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงมหาดไทย
    โดยมีนายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง, นายสมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานรัฐสภาคนที่สองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง, นายกรวรีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง, ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี, ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท,นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง, หัวหน้าส่วนราชการ, นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจากทั้ง 3 จังหวัด รวมกว่า 1,000 คน เข้าร่วม เพื่อรับฟังบรรยายเกี่ยวกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ, การแจ้งใช้แอปพลิเคชั่น Thai Disaster Alert ในการแจ้งเตือนและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารรระดับสูงของ ปภ., GISDA, สทนช. และนายไชยชนก ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต 2 ร่วมสะท้อนความเห็นในฐานะตัวแทนภาคประชาชน
     ในการนี้ นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำในจังหวัดอ่างทอง รวมถึงแนวทางการแจ้งเตือนประชาชน โดยอาศัยความร่วมมือจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตือนผ่านทุกช่องทางและเพิ่มความเข้มข้นตามสถานการณ์
    ด้านนายอนุทินได้กล่าวในการมอบนโยบายว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่ โดยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการพัฒนาการในทุกด้าน ทั้งด้านนโยบาย นวัตกรรม และภาคปฏิบัติ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม ป้องกัน และกำหนดมาตรการ เพื่อรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2568 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการประสานการปฏิบัติในทุกระดับ และขอให้จังหวัดและอำเภอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสื่อสารกับประชาชนทุกช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ
  “เมื่อมีการสั่งการในนามของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติแล้ว อำนาจและงบประมาณในช่วงภัยพิบัติจะขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดที่สามารถเบิกจ่ายอนุมัติความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ทันที หรืองบ ฯ ฉุกเฉินที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถอนุมัติตามหลักเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามความเหมาะสมได้ ที่ผ่านมาพบว่างบฯส่วนนี้การเบิกจ่ายน้อย เนื่องจากผู้บริหารเกรงจะถูกหน่วยงานเข้าตรวจสอบ แต่กระทรวงมหาดไทยยุคนี้ต้องกล้าใช้ดุลยพินิจ ดุลยพินิจที่ถูกต้อง อย่างไรก็ไม่ผิด ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดนี้มีงบประมาณป้องกันน้ำท่วมกว่า 6,500 ล้านบาท ยืนยันว่าเรามีความสามารถ มีงบประมาณ มีบุคลากรที่จะช่วยพี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอน ขอให้มีความมั่นใจ” นายอนุทิน กล่าว
  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า ให้น้ำมีทางระบาย มีมาตรการแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงให้ความสำคัญกับการเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่เสียสละพื้นที่ทางการเกษตรให้เป็นที่รับน้ำด้วย จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะผู้บริหารยังได้พบปะทักทายประชาชนที่มาร่วมงาน พร้อมชมนิทรรศการด้านการแจ้งเตือนสาธารณภัยของจังหวัด รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดอ่างทอง


























 ภาพ-ข่าว อภิวัฒน์ กุลคำ/บรรณาธิการข่าว นิวส์24 

0937863999

แสดงความคิดเห็น