(9 ก.ค.68)   นายทรงศัก  สายเชื้อ   ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะฯ ได้ลงพื้นที่รับเสียงสะท้อนจากตัวแทนกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด และชาวบ้านในพื้นที่ อ.ชำนิ  และ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ด้วยตัวเอง  หลังได้รับร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้าน ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  ว่ากระบวนการขั้นตอนการรับฟังความเห็นไม่เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้อง  มีการทำในลักษณะมัดมือชก โดยการเข้ามากว้านซื้อที่ดินแล้วค่อยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมชาวบ้านทีหลัง   รวมถึงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งเรื่องความปลอดภัยด้านการจราจรจากรถบรรทุกอ้อย    ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง  น้ำเสีย   และวิถีชีวิต  เพราะพื้นที่ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว   อยู่ติดแหล่งน้ำลำปะเทียซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร   รวมถึงจะกระทบวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนก็จะเปลี่ยนไป         เพราะโรงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะก่อสร้าง  มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 5 กิโลเมตร  

 ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านยังได้ยื่นหนังสือกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่มเติมด้วย    และหลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านแล้ว  ก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมและรับฟังความเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการที่จะมาสร้างโรงงานน้ำตาล   และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ศาลากลางจังหวัดด้วย  เพื่อจะรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย  ไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางอีกครั้ง

 นายชัยพร  มะลิวรรณ ผญบ.โคกปราสาท  ตำบลหนองปล่อง  กล่าวว่า  สิ่งที่ชาวบ้านกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  คือปัญหาการจราจร   มลพิษจากฝุ่นละออง  น้ำเสีย   และที่ชาวบ้านยังตั้งข้อสังเกตว่าการทำประชาคมไม่มีความตรงไปตรงมา  ไม่มีหน่วยงานมาให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับผลดีผลเสียของการสร้างโรงงานน้ำตาลหรือโรงไฟฟ้าชีวมวลเลย แต่กลับเข้ามากว้านซื้อที่ดินแล้วค่อยเปิดเวทีประชาคม  ก็หวังว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่มารับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วยตนเองครั้งนี้   จะได้รับทราบข้อเท็จจริง  และจะไม่เกิดโรงงานน้ำตาลหรือโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้น  

 นางภณิตา เกื้อกระโทก ตัวแทนชาวบ้านตำบลหนองปล่อง บอกว่า  โรงงานน้ำตาลที่จะก่อสร้างอยู่ใกล้กับชุมชน   ทำให้ชาวบ้าน  วัด  โรงเรียน  เกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน   ที่สำคัญพื้นที่ที่จะก่อสร้างอยู่ใกล้ลำปะเทีย  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของคนในพื้นที่

จึงเกรงว่าการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะเกิดผลกระทบด้านมลพิษทางน้ำ และอากาศอย่างแน่นอน แต่หากทางผู้ประกอบการยังดึงดันจะก่อสร้าง   ชาวบ้านก็จะเดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุดเช่นกัน   ก็อยากฝากถึงผู้ประกอบการว่าพื้นที่ที่กว้านซื้อไปแล้ว   ควรจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ไม่กระทบกับชุมชน และชาวบ้าน เช่น ปลูกป่า  หรือโซล่าเซล 

 ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ระบุว่า  หลังได้รับร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้าน  วันนี้ก็ได้ลงพื้นที่มารับฟังความเห็นจากชาวบ้านด้วยตัวเอง   ซึ่งชาวบ้านก็ได้สะท้อนเกี่ยวกับกระบวนการทำประชาคมที่ไม่ถูกต้อง   รวมถึงกังวลเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นด้านการจราจร  สิ่งแวดล้อม  และวิถีชีวิตความเป็นอยู่  เพราะสถานที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชน  ซึ่งหลังจากรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว   ก็จะไปประชุมร่วมกับตัวแทนโรงงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง   ซึ่งก็จะได้ไปตรวจสอบทั้งด้านกฎหมายผังเมือง กฎหมายอุตสาหกรรม  รวมถึงกฎหมายอื่นๆ

ที่เกี่ยวข้องว่าการดำเนินการสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่  รวมถึงผลกระทบกับระบบนิเวศน์  ซึ่งก็จะรับฟังข้อมูลจากทุกด้าน  เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  รวมถึงข้อขัดแย้งกับผู้ประกอบการ และหน่วยงานรัฐด้วย   แต่อย่างไรก็ตามผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะยึดเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นศูนย์กลาง






     สุรชัย    พิรักษา / บุรีรัมย์

แสดงความคิดเห็น