ชสอ. โดยการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 51 ได้ดำเนินการมาครบรอบปีบัญชี 2566 (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) ณ วันสิ้นปีบัญชี ชสอ. 31 มีนาคม 2567 มีสหกรณ์สมาชิก 1,103 สหกรณ์ สินทรัพย์รวม 143,631 ล้านบาท สามารถบริหารสินทรัพย์ให้เกิดกำไรสุทธิ 1,682 ล้านบาท และในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคล ชสอ. ได้จัดสร้างหอประวัติ และพระอนุสาวรีย์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ขนาด 2 เท่าของพระองค์จริง จัดกิจกรรมวันออมแห่งชาติ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 สนับสนุนกิจกรรมสหกรณ์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดโครงการพัฒนาครูสหกรณ์โรงเรียนและประกวดโรงเรียนสหกรณ์ดีเด่น การเปิดบริการเงินกู้โครงการพิเศษใหม่ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับตลาดกลางออนไลน์เพื่อคนสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีช่องทางซื้อขายสินค้า และส่งเสริมอาชีพเสริม
นอกจากนี้ ชสอ. มีการปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารจัดการสู่ระดับมาตรฐานสากล ได้แก่ ธรรมาภิบาล การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหาร ชสอ. ให้เป็น Digital FSCT
ด้านต่างประเทศ ชสอ. ในฐานะสมาชิกสามัญของสมาคมสมาพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตในเอเชีย (ACCU) ซึ่งประธานกรรมการ ชสอ. ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ คนที่ 1 ในคณะกรรมการดำเนินการ ได้ร่วมกับ ACCU จัดโครงการฝึกอบรมให้กับผู้นำสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย และการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านสื่อออนไลน์ให้กับบุคลากรของสหกรณ์สมาชิก
และนับเป็นเกียรติยศแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของ ชสอ. เมื่อสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทยมอบรางวัลประจำปี 2566 ให้กับ ชสอ. จำนวน 2 รางวัล คือ รางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ ประเภทดีเลิศ ในฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยดีเด่นต้นแบบในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และประธานกรรมการ ชสอ. ได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสดุดี ประจำปี 2566 ประเภทดีเลิศ ในฐานะเป็น “บุคคลดีเด่นต้นแบบในด้านการพัฒนาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยอย่างยั่งยืน”
แสดงความคิดเห็น