สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 09.00 น. ได้เกิดเหตุผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขณะปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานกักกันกลางกรุงเทพมหานคร สังกัดเรือนจำกลางคลองเปรม
"กรมราชทัณฑ์"ขอเรียนว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สองรายได้นำอาหารกลางวันไปให้ผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษภายในห้องควบคุม 3/2 ขณะกำลังเปิดประตูห้อง ผู้ก่อเหตุได้ดันประตูวิ่งสวนออกมา และแย่ง ไม้ตะบองของเจ้าหน้าที่ และใช้ไม้ตีเจ้าหน้าที่ที่ศีรษะ เบ้าตา และบริเวณกลางหลังหลายครั้ง ส่วนเจ้าหน้าที่อีกรายพยายามช่วยเหลือแต่ก็ถูกไม้ตีที่บริเวณศีรษะเช่นเดียวกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งสองรายได้รับการช่วยเหลือและ
ถูกส่งตัวเข้ารับการตรวจอาการบาดเจ็บและรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการเรือนจำกลาง คลองเปรม ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุเพื่อปกป้องสิทธิของเจ้าหน้าที่และเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเรือนจำ อนึ่งผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษรายนี้จากประวัติ ขณะเป็นเยาวชนเคยถูกฝึกอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมาแล้ว 3 ครั้ง เคยต้องโทษในเรือนจำฐานความผิดคดีเกี่ยวกับเพศ 2 ครั้ง คดีความผิดต่อชีวิต และร่างกาย 1 ครั้ง ขณะต้องโทษมีประวัติการรักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia: F20) ก่อนได้รับการปล่อยตัว พ้นโทษ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ระยะเวลา 3 ปีและเมื่อ
คุมขังภายหลังพ้นโทษครบระยะเวลา 3 ปีแล้ว ให้กรมคุมประพฤติเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษต่ออีก 3 ปี เพื่อป้องกัน มิให้กระทำความผิดซ้ำ โดยพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 กำหนดว่า ผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษไม่ถือเป็นนักโทษ และจะปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ภายหลังพ้นโทษเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ โดยให้ปฏิบัติด้วยการนำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ การกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา (ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566) มาใช้
บังคับโดยอนุโลมเจ้าหน้าที่เรือนจำนอกจากต้องควบคุมดูแลให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์แล้ว ยังมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษตามกฎหมายมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย จากอัตราส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับจำนวนผู้กระทำผิดที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดนักโทษล้นเรือนจำ เจ้าหน้าที่มีภาระงานสูงขึ้นทำให้เกิดความตรากตรำในการปฏิบัติงาน มีความเสี่ยงภัยสูง เนื่องจากต้องควบคุมดูแลผู้ต้องราชทัณฑ์ซึ่งบางรายมีพฤติการณ์
ดื้อด้านยากต่อการควบคุมแก้ไข บางรายกระทำความผิดซ้ำหลายครั้ง บางรายมีอาการทางจิตเวช อย่างไรก็ตาม"กรมราชทัณฑ์"ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ในการควบคุมดูแล แก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยบุคคลที่ถือว่าเป็นอันตรายไม่ให้ กลับไปกระทำผิดซ้ำ และพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันสังคมให้ปลอดภัยจากอาชญากรต่อไป
แสดงความคิดเห็น