วันนี้ (22 ธันวาคม 2567) เวลา 16.00 น. ณ แหล่งสมาคมโรงเรียนทหารขนส่ง (โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ.) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำมีอาชีพเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ของสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนนทบุรี และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวต้อนรับ
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน
การจัดงานดังกล่าวเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ความว่า "การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ
1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง
2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม
3. มีงานทำ มีอาชีพ
4. เป็นพลเมืองที่ดี"
สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนนทบุรี และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมใจกันนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษามาสู่การปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งจังหวัด
โดยได้ทำความตกลงร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรีเขต 1 และเขต 2 สำนักงานส่งเสริมการเรียนจังหวัดนนทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เทศบาลในจังหวัดนนทบุรี และสถานประกอบการ
ได้ร่วมมือดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำมีอาชีพ (EDUCATION FOR CAREER READINESS) นนทบุรีโมเดล
ให้เป็นระบบการศึกษาที่มีการยืดหยุ่นและเอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง รู้จักงานอาชีพอย่างกว้างขวาง
มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ และเจตคติอันดี ผ่านการศึกษา การฝึกอบรมและการปฏิบัติงาน สั่งสมความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน สามารถนำความรู้และประสบการณ์มาเทียบโอนผลการเรียนผ่านระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชากรวัยเรียนและวัยทำงานเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา ด้วยการขยายวิธีการและกลุ่มเป้าหมาย ตามความถนัดและความสนใจได้อย่างชัดเจนทั่วถึง มีอาชีพมีงานทำ เพื่อยกระดับการศึกษาวิชาชีพของประชากรวัยทำงานให้สูงขึ้น มีอาชีพมีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง สถานประกอบการ ตลาดแรงงาน และมีเป้าหมายสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั้งที่อยู่ในระบบและหลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับมามีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ผ่านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ (Zero Drop Out) มุ่งให้มีทักษะในการประกอบอาชีพและสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ เน้นการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ตามศักยภาพของผู้เรียน ด้วยการวัดผลและรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate)
โดยได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เพื่อการมีอาชีพมีงานทำ (EDUCATION FOR CAREER READINESS) นนทบุรีโมเดล แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
รูปแบบที่ 1 จัดการเรียนการสอนห้องเรียนอาชีพในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) มีความรู้ และทักษะด้านอาชีพ ในกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และตลาดแรงงาน สามารถเข้าถึงกลุ่มอาชีพพื้นฐานตามความถนัด ความสนใจ และสามารถเทียบโอนผลการเรียนหรือเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อการสะสมหน่วยกิต (Credit Bank)ได้
โดยกำหนดแนวทางในการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1.1 จัดการเรียนการสอนโดยพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเป็นรายวิชา
เพิ่มเติมหรือวิชาเลือกในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา
แนวทางที่ 1.2 จัดการเรียนการสอนโดยนำรายวิชาในหลักสูตรระดับ ปวช.หรือปวส.
ไปเป็นรายวิชาเพิ่มเติมหรือวิชาเลือกในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อสะสมหน่วยกิต
(Credit Bank)
รูปแบบที่ 2 จัดการเรียนการสอน และการฝึกอบรมอาชีพ สำหรับแรงงานไร้ฝีมือ ผู้ว่างงาน
และผู้ที่ต้องการมีอาชีพเสริมเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนที่จบชั้น ม.3 และหรือเรียนในชั้น ม.4-6 ที่ออกกลางคันหลุดจากระบบการศึกษา แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ว่างงาน และผู้ที่ต้องการมีอาชีพเสริม มีโอกาส
กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสายอาชีพ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นแรงงานฝีมือ หรือศึกษาต่อในระดับ ปวช. ปวส. และปริญญา สามารถเข้าเรียนหรือฝึกอบรมใน 2 แนวทางคือ
แนวทางที่ 2.1 จัดการเรียนการสอนในโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส
แนวทางที่ 2.2 จัดการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ให้กับผู้ที่หลุดอออกจากระบบการศึกษา แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ว่างงาน และผู้ที่ต้องการมีอาชีพเสริม
ประยงค์ วิลัย /ภาพข่าว
แสดงความคิดเห็น