เมื่อวันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บริเวณแปลงเกษตรกรต้นแบบปลูกพืชใช้น้ำน้อย ของนาย สมฤทธิ์ รัตนประทุม บ้านกวางโจนหมู่ 18 ตำบลกวางโจน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรณรงค์สร้างการรับรู้การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ นางสาวกังสดาล  ชาตกุล เกษตรจังหวัดชัยภูมิ จัดงาน Green Day เพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยได้รับเกียรติ จากนายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงาน นาย วรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอภูเขียว นางพูมใจ ประทุมคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกวางโจน พร้อมหน่วยงานราชการ และเกษตรกรที่เข้าร่วมงานกว่า 500 คนให้การต้อนรับ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการได้ร่วมกิจกรรมวางแผนตอบโต้ค่าฝุ่นละอองที่เกิมาตรฐานปรับเปลี่ยนการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day) ภายใต้โครงการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในงานนอกจากจะจัดให้มีเวทีเสวนาเพื่อออกแบบวางแผนในการทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ถึงวิธีการทำการเกษตรแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้วิธีการเผา
    นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประสบปัญหา หมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง คือ ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ
ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุน การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระยะต่อไป จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ทำการเกษตร 3,404,483 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของพื้นที่จังหวัด มีครัวเรือนเกษตรกร 194,535 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 48.11 ของครัวเรือทั้งหมด พืชเศรษฐกิจหลัก ที่สำคัญได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน คาดการณ์ปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ 2,964,050 ตัน
ซึ่งเกษตรกรและชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่มีการวางแผนในการจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเกษตรกรเผาเศษวัสดุในพื้นที่เพื่อทำการเกษตรฤดูถัดไปหรือทิ้งไม่นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีปริมาณมากและเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลาย เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป้าหมายจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมลดลงร้อยละ 20 ใน 3 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว จุดความร้อนลดลง ร้อยละ 30 อ้อยโรงงาน จุดความร้อนลดลงร้อยละ 15 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จุดความร้อนลดลงร้อยละ 10 ด้วยเหตุนี้จังหวัดชัยภูมิ จึงได้จัดเวทีรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม (Green Day) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร
และการส่งเสริมการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ด้วยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ กระตุ้นเตือนให้พี่น้องเกษตรกรได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และสาธิตเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนการเผา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดการเศษซากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งพัฒนาให้เกษตรกร มีความรู้ พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลด PM2.5 มีระบบการผลิตทางการเกษตรที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป





   ภาพ/ข่าว_อุดม ลีหัวสระ _ จ. ชัยภูมิ/รายงาน

0933382500

 

แสดงความคิดเห็น