พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน ในรูปแบบออนไลน์ รุ่นที่ 3

ในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์เจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน ในรูปแบบออนไลน์ รุ่นที่ 3 โดยมี นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางสาวชนิดา วิชัยคำ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสุขภาพเด็กและเยาวชน ผู้แทนอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถานในโครงการกำลังใจฯ คณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ และผู้เข้ารับการอบรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 10-06 และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

ในการนี้ พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กล่าวใจความตอนหนึ่งว่า การอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver เริ่มจากพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ได้พระราชทานคำแนะนำเมื่อปี 2564 ว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และโปรดให้โครงการกำลังใจฯ ทดลองการให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงแก่ผู้ต้องขัง ดังนั้น โครงการกำลังใจฯ จึงได้จัดการอบรม ณ เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีผู้ที่ผ่านการอบรมและพ้นโทษแล้ว ได้ไปทำงานดูแลผู้สูงอายุในสถานประกอบการของภาคเอกชน ต่อมา กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม และคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ จึงได้วางแผนการจัดอบรมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำภายใต้โครงการกำลังใจฯ เพื่อดำเนินงานตามแนวทางพระราชทานและเนื่องด้วยอาชีพการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ก็เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งโครงการกำลังใจฯ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากกรมกิจการผู้สูงอายุในการจัดการอบรมหลักสูตรพื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 18 ชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวน 3 รุ่น และยังได้ร่วมกับกรมอนามัย สนับสนุนให้มีการอบรมในหลักสูตรที่สูงขึ้น จำนวน 70 ชั่วโมง อีกจำนวน 2 รุ่น ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมต่างเห็นว่า การอบรมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้ได้รับความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ และภายหลังพ้นโทษ จะนำความรู้ไปใช้ในการดูแลตนเองและครอบครัว และแม้ผู้ที่ยังไม่พ้นโทษจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังสูงวัยในเรือนจำ อันเป็นการช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่และพยาบาลเรือนจำได้เป็นอย่างดี

ภาพ/ข่าว : โครงการกำลังใจฯ กองทุนกำลังใจฯ

ทีมข่าวNEWS24 : รายงาน

แสดงความคิดเห็น