ใจหาย ขาย “กาดสวนแก้ว”
เชียงใหม่-ใจหายวาบ! แบงค์กรุงไทยปักป้ายประกาศขาย "กาดสวนแก้ว" อดีตห้างดังในตำนานเมืองเชียงใหม่ ตั้งราคา 3,000 ล้านบาท เบื้องต้นพบมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเพียบ แต่ยังไม่มีข้อตกลงกับรายใด
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นกระแสที่มีการพูดถึงในกลุ่มคนเชียงใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมาก หลังจากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพป้ายประกาศขายทรัพย์มือสองของธนาคารกรุงไทย ติดตั้งอยู่หน้า "กาดสวนแก้ว" อดีตศูนย์การค้าชื่อดังและทันสมัยที่สุดของเชียงใหม่ พร้อมให้รายละเอียดว่ามีเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา และราคาขาย 3,000 ล้านบาท โดยจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์บริเวณ "กาดสวนแก้ว" ถนนห้วยแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ พบว่าอยู่ในสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม และมีป้ายประกาศขายติดตั้งไว้จำนวน 2 ป้าย
ขณะที่เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารกรุงไทย พบว่ามีการประกาศขายจริงในหมวดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระบุเนื้อที่ตรงกัน แต่ไม่ได้แจ้งราคา ขณะที่จากการสอบถามแหล่งข่าวในธนาคารเปิดเผยว่า ป้ายประกาศดังกล่าวมีการติดตั้งไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 แล้ว และตั้งราคาไว้ 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามราคาดังกล่าวยังสามารถต่อรองกับทางธนาคารได้อีก ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศติดต่อสอบถามเข้ามาอยู่ตลอด แต่ยังไม่มีรายใดที่ตัดสินใจซื้อ
สำหรับอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2535 ประกอบด้วยศูนย์การค้าสูง 10 ชั้น โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว สูง 13 ชั้น ขนาด 420 ห้อง ก่อตั้งโดย ร.ต.ท.สุชัย เก่งการค้า อดีตสถาปนิกกรมตำรวจ ที่ผันตัวมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บนเนื้อที่ 28 ไร่ และซื้อที่ดินเพิ่มอีก 20 ไร่ จากลูกของเจ้าพงศ์อิน
โดยความโดดเด่นของกาดสวนแก้ว คือ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ตัวอาคารก่อด้วยอิฐสีน้ำตาลเข้ม ขณะนั้นถึงกับลงทุนตั้งโรงงานทำกระเบื้องดินเผาเชียงใหม่ เพื่อบุผนังด้านนอกอาคารทั้งหลัง แมกเนตหลักคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาแรกในต่างจังหวัด โรงภาพยนตร์วิสต้า ขนาด 7 โรง และโรงละครกาดเธียเตอร์ ชั้น 5 ความจุ 1,500 ที่นั่ง ชั้น 6-10 เป็นสำนักงานให้เช่า
ทั้งนี้การเปิดตัวอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว สั่นสะเทือนไปถึงคู่แข่ง คือ ห้างตันตราภัณฑ์ ภายหลังต้องปิดกิจการสาขาช้างเผือก สาขาท่าแพ ส่วนสาขาแอร์พอร์ตได้ร่วมกับทางกลุ่มซีอาร์ เป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน แอร์พอร์ต ก่อนจะขายให้กับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา เหลือเพียงธุรกิจริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต และบริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มรุนแรงขึ้น ด้วยกลุ่มทุนจากส่วนกลาง อาทิ เซ็นทรัลพัฒนา เปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 70 ไร่ ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์(เชียงใหม่-ลำปาง) บริเวณสี่แยกศาลเด็ก ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2556 ซึ่งมีแมกเนตหลักคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รวมไปถึงศูนย์การค้าเม-ญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ บริเวณสี่แยกรินคำ ถนนห้วยแก้วกับถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ต.ช้างเผือก อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เปิดเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2557 ของกลุ่มเอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ แมกเนตหลักคือโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ขนาด 10 โรง ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต และโค-เวิร์คกิ้งสเปซ C.A.M.P. (ซีเอเอ็มพี)
เมื่อกลุ่มทุนจากส่วนกลางรุกคืบเรื่อยๆ ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยกว่า แมกเนตที่ดึงดูดลูกค้ามากกว่า ส่งผลสะเทือนไปยังกาดสวนแก้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องออกมารีโนเวตภายในเมื่อปี 2561 เริ่มจากชั้น B1 และทยอยปรับปรุงไปเรื่อยๆ ขณะที่ร้านค้าที่ปิดไปบางส่วน ชี้แจงว่าอยู่ในช่วงหมดสัญญา บางร้านต่อสัญญาแล้ว อยู่ในช่วงการเลือกพื้นที่ใหม่
นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เมื่อโรงภาพยนตร์วิสต้า หมดสัญญาเช่ากับทางกาดสวนแก้ว ให้บริการวันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ก็ถูกแทนที่โดยโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดสาขากาดสวนแก้ว แห่งที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 6 โรง รวม 1,300 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2562
ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตัดสินใจยุบบริการต่างๆ ของสาขากาดสวนแก้ว ไปรวมกับสาขาเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ และเปลี่ยนสาขากาดสวนแก้ว มาเป็นห้างเซ็นทรัล เอาต์เล็ท (Central Outlet) จำหน่ายสินค้าลดราคาสูงสุด 90% เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 เป็นต้นมา โดยที่ชั้นล่างยังเป็นท็อปส์ มาร์เก็ต เช่นเดิม
กระทั่งในที่สุด"กาดสวนแก้ว" ได้ประกาศปิดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป โดยได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้าตั้งแต่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำเอาชาวเชียงใหม่และคนที่มีความผูกพันกับศูนย์การค้าแห่งนี้มานานต่างใจหายกันเป็นแถว
เหตุผลที่กาดสวนแก้วปิดให้บริการชั่วคราวนั้น มีการระบะว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ศูนย์การค้าได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว แม้จะช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการลดค่าเช่า ค่าบริการ และผ่อนผันผู้ประกอบการร้านค้าทุกวิถีทาง พร้อมกับทางศูนย์การค้าฯ ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ลดเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าเพื่อลดค่าไฟ ตัดลดเงินเดือนพนักงาน
แต่เนื่องจากการระบาดยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งภาครัฐไม่มีนโยบายผ่อนปรนหรือช่วยเหลืออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปิดศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในสุดแล้วกลับกลายเป็นการปิดอย่างถาวรและถูกประกาศขายในที่สุด.
แสดงความคิดเห็น