จังหวัดสุราษฎร์ธานี สั่งคุมเข้มปิดศูนย์การเรียนภาษาพม่าในจังหวัดทุกแห่ง พร้อมตั้งคณะทำงานบูรณาการ รายงานสถานการณ์ทุก 3 เดือน ป้องกันลักลอบเปิดซ้ำ ด้านตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง เดินหน้าสอบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง หวั่นกระทบความมั่นคง 


 หลังจากมีกรณีการเผยแพร่คลิบวีดิโอช่วงเคารพธงชาติที่มีการร้องเพลงชาติพม่า ต่อจากการร้องเพลงชาติไทย ปรากฏในโลกออนไลน์ และเป็นประเด็นร้องเรียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุเทพ เก่งสันเที๊ยะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการด่วน ให้ทุกจังหวัดเร่งตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เป็นสถานที่เกิดเหตุตามคลิบ ซึ่งนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที พร้อมทั้งมอบหมายให้ นายสุคนธ์ หนูภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ จัดหางานจังหวัดสุราษฎร์ธานี แถลงข่าว เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว พร้อมมาตรการป้องกันไม่ให้ เกิดขึ้นอีก 

 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า การลักลอบเปิดศูนย์การเรียนภาษาพม่า ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีมานานแล้ว และได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการสั่งปิดมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงลักลอบกลับมาเปิดใหม่ ครั้งนี้ จึงได้แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้ ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาผิดกับผู้จัดตั้ง ผู้สนับสนุน

ด้านนายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เมื่อปี 2565 ได้มีการยื่นคำขอจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชื่อว่า ศูนย์การเรียนมิตาเย๊ะ ในพื้นที่อาคารเรียนเดิมของวิทยาลัยเทคโนโลยีบางกุ้ง ที่ยุติการเรียนการสอนไปแล้ว แต่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ได้มีมติ ไม่อนุญาตให้จัดตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหลายข้อและได้สั่งให้ยุติการสอนภาษาพม่าไป อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนดังกล่าว ยังคงลักลอบเปิดการสอนมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีตนเอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และ ฝ่ายปกครอง ได้เข้าไปสั่งปิด ก็กลับมาเปิดใหม่นับ 10 ครั้ง และบางครั้ง ผู้ให้เช่าสถานที่ ยังมีการโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งปิด จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ จนปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ มีอำนาจตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน และ กฎหมายอื่นๆ ที่จะสั่งปิดได้ จนเกิดกรณีล่าสุด จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการดูแลเด็กชาวเมียนมาร์ ซึ่งเรียนอยู่ที่ศูนย์การเรียนดังกล่าว กว่า 1,100 คน สามาถเข้าเรียนยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงเรียนเอกชน ที่มีอยู่จำนวนมาก เพียงพอจะรับนักเรียนเหล่านี้เข้าเรียนได้ แต่นักเรียนจะเรียนตามหลักสูตรของไทย 

ขณะที่หน่วยงานความมั่นคง และ จัดหางานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงาน เช่น การตรวจสอบการอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ของเด็กและผู้ปกครอง การอนุญาตทำงาน และการกระทำผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จะต้องตรวจสอบโดยละเอียด เพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งครูชาวเมียนมา 24 คน ครูคนไทย 6 คน รวมถึงครูใหญ่ และ เจ้าของสถานที่ให้เช่าเปิดศูนย์การเรียน 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ย้ำว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก และจะตั้งคณะทำงาน คอยตรวจสอบและรายงานต่อที่ประชุม ทุก 3 เดือน ไม่มีการเปิดซ้ำ ส่วนมาตรการอื่นๆ จะทยอยออกมาหลังการสอบสวนดำเนินการแล้วเสร็จ ยืนยันว่า ปัจจุบันศูนย์การเรียนภาษาพม่า ที่มีอยู่ประมาณ 6 ศูนย์ ในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ,ชุมชนโพหวาย ,ชุมชนวัดสมหวังวนาราม ในอำเภอเมือง ,อำเภอคีรีรัฐนิคม , อำเภอดอนสัก และ อำเภอเกาะพะงัน ขณะนี้ได้ปิดหมดแล้ว 
















แสดงความคิดเห็น