วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดบุรีรัมย์ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นายชาติชาย ศรีษะนอก เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่นเขต 13 จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานในการหารือเพื่อการติดตามสถานการณ์การผลิตอ้อยและผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยอย่างมีส่วนร่วม โดยมีหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนคณะกรรมการอ้อย คณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่นเขต 13 จังหวัดบุรีรัมย์ เขต 24 จังหวัดสุรินทร์ และ เขต 29 จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมรับฟังประเด็นปัญหาและอุปสรรคของพื้นที่

พร้อมร่วมหารือกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายต่อไป

นายดร สีโสภา นายกสมาคมชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์ เผยว่า มีการพูดคุยถึงประเด็นเงินช่วยเหลือตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนนัก รวมถึงนโยบายฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยพร้อมปฏิบัติตาม ตัดอ้อยสดให้ได้มากที่สุด เรื่องนี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลน่าจะมีปัจจัยที่จะช่วยชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะเงินชดเชย 120 บาท ช่วยดำเนินการต่อเนื่อง ภาพรวมแล้วพี่น้องชาวไร่อ้อย พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ และพัฒนาตัวเองในเรื่องคุณภาพอ้อย อ้อยไฟไหม้ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่การแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้ เมื่อชาวไร่พัฒนาตัวเองแล้ว อยากฝากถึงรัฐบาลช่วยดูแลชาวไร่อ้อยให้อยู่ดีกินดี มีความสุขกับอาชีพทำไร่อ้อย

นายประสิทธิ์ วงษาเทียม เลขานุการคณะกรรมการอ้อย บอกว่า เสียงสะท้อนจากชาวไร่อ้อย ยังเฝ้าติดตามการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร หลังปีที่แล้วราคาสูงถึงตันละ 1,420 บาท (ความหวาน 10 CCS) รวมถึงเรื่องโรคแมลงที่กำลังระบาด คือ โรคใบขาว และโรคแส้ดำ มีข้อเรียกร้องให้พัฒนาสายพันธุ์อ้อยที่ต้านทานต่อโรค และการทวงถามเรื่องเงินชดเชยส่วนต่างค่าแรงการตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ซึ่งยังไม่ได้รับ ประเด็นเหล่านี้ก็จะนำเข้าสู่การหารือกับผู้บริหารระดับสูงว่าจะมีแนวโน้มการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอย่างไร
นายเอกรินทร์ ทองนอก  รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย บอกว่า ปีนี้จะเร่งผลักดันนโยบายแหล่งเงินทุนสินเชื่อโครงการรถตัดอ้อย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดปัญหาการเผาอ้อย ผลกระทบจากควันและฝุ่นละออง สนองนโยบายรัฐบาลอย่างเร่งด่วน.






 

แสดงความคิดเห็น